สภาลูกหนัง: ลำดับความสำคัญของ ‘เซอร์ จิม’ ในถิ่น ‘ปีศาจแดง’
นับตั้งแต่ที่ เซอร์ จิม แรทคลิฟฟ์ เข้ามาถือหุ้นและได้สิทธิ์ในการดูแลทีมฟุตบอลของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของ ‘การเงิน’ ที่ถูกตัดทอนออกไปในหลายภาคส่วน
การทุ่มเงินกว่า 1,300 ล้านปอนด์เพื่อเข้าถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ของ แมนฯ ยูไนเต็ด ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับ แรทคลิฟฟ์ ในวงการกีฬา ซึ่งนับเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งที่ 3 แล้วที่ตัวเขาเข้าไปมีส่วนร่วม โดยเริ่มจาก เอฟซี โลซาน สปอร์ต ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และตามมาด้วย นีซ ใน ลีกเอิง
นอกเหนือจากวงการลูกหนังแล้ว เขายังคงมีส่วนร่วมกับ เอฟวัน ด้วยการที่ส่ง INEOS เข้าไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับ เมอร์เซเดซ รวมถึงในวงการน่องเหล็กก็ยังเป็นเจ้าของ ทีมสกาย ที่คว้าแชมป์ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ มาได้ถึง 7 สมัยด้วยกัน
นับตั้งแต่ที่มหาเศรษฐีชาวอังกฤษผู้นี้เข้ามามีบทบาทในถิ่น โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ได้ผุดโปรเจ็คต์ต่าง ๆ มากมาย โดยที่เด่นชัดที่สุดก็คือการสร้างสนามฟุตบอลแห่งใหม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาที่คาราคาซังมาตั้งแต่ในยุคก่อนหน้า ทำให้ทีมงานของเขาหรือกลุ่ม INEOS นั้นต้องมาปัดกวาดเช็ดถู ‘คราบสกปรก’ ที่ถูกซุกไว้อยู่ใต้พรมมานานนับทศวรรษ และส่งผลให้สโมสรนั้นต้องเผชิญกับสภาวะทางการเงินที่ไม่คล่องมือและเสี่ยงที่จะมีปัญหากับกฎการเงินของ พรีเมียร์ลีก
กฎการเงินของ พรีเมียร์ลีก หรือ PSR นั้นอณุญาตให้แต่ละสโมสรขาดทุนได้ไม่เกิน 105 ล้านปอนด์ตลอด 3 ฤดูกาลหลังสุด แต่ถ้านับเฉพาะฤดูกาล 2023-24 นั้น ยูไนเต็ด ขาดทุนสูงถึง 113.2 ล้านปอนด์เข้าไปแล้ว และถ้านำไปรวมกับ 2 ฤดูกาลก่อนหน้าก็จะสูงถึง 270 ล้านปอนด์เลยทีเดียว
แต่ที่สโมสรแห่งนี้รอดพ้นจากการถูกลงโทษมาได้ก็เพราะมีข้อยกเว้นหรือ ‘ช่องโหว่’ กับการที่นำเงินมาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ถูกนับมารวมเอาไว้ในนี้ เช่น การพัฒนาสนามซ้อมหรือต่อเติมสนามแข่งขัน
ทั้งนี้ ผู้เขียนก็ไม่รู้ว่าทีมผู้บริหารไปเล่นแร่แปรธาตุกันอย่างไร เพราะจากที่เห็นในถ่ายทอดสด หลังคาของ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ยังคงมีน้ำรั่วลงมาอยู่ดี และล่าสุดก็ไหลไปจนถึงห้องแถลงข่าวในขณะที่ รูเบน อโมริม กำลังให้สัมภาษณ์อยู่ด้วย
ด้วยจำนวนตัวเลขขาดทุนที่สูงขนาดนี้ ทำให้พวกเขาต้องลดค่าใช้จ่ายที่ ‘ไม่จำเป็น’ ให้ได้เยอะที่สุด เริ่มจากเรื่องยิบย่อยอย่าง ยกเลิกการใช้บัตรเครดิตของบริษัท, ยกเลิกคนขับรถและรถส่วนตัวของเหล่าผู้บริหาร, ให้พนักงานออกค่าใช้จ่ายส่วนตัวในการไปชมนัดชิงชนะเลิศ เอฟเอคัพ เมื่อฤดูกาลก่อน, ลดการผลิตหนังสือโปรแกรมแข่งขันครึ่งหนึ่ง และยกเลิกอาหารของทีมงานในวันที่มีการแข่งขัน
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ออกหน้าสื่อเป็นข่าวใหญ่โต เช่น การปลดพนักงาน 250 คน, ถอดชื่อของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ออกจากการเป็นทูตสโมสร, ขึ้นค่าตั๋วเข้าชมเกมและยกเลิกส่วนลดให้กับแฟนบอล, ยกเลิกงานปาร์ตี้คริสต์มาส, ยกเลิกงบสนับสนุนแฟนบอลคนพิการ และล่าสุดคือการตัดงบการกุศลที่มอบให้กับอดีตนักฟุตบอลของสโมสร
แล้วเรื่องเหล่านี้ที่ถูกตัดออกไป ลดค่าใช้จ่ายเท่าไร ก็มีสื่อไปหาคำตอบว่าให้ว่าลดไปได้ถึง 45 ล้านปอนด์เลยทีเดียว แต่ถ้าถามผมว่าคุ้มไหมกับความรู้สึกของแฟนบอล ผมมองว่า ‘ไม่คุ้ม’ เอาซะเลย
ในมุมมองของแฟนบอลส่วนใหญ่มองว่า ทำไมพวกเขาถึงไม่ไปลดต้นทุนในส่วนที่ ‘ภาระ’ ของสโมสรแทนซะล่ะ ซึ่งภาระที่ว่าก็คือ ‘นักฟุตบอล’ ในทีมนั่นแหละครับ
ซึ่งปัญหานี้มันลากยาวมาตั้งแต่สมัยของ เอ็ด วู้ดเวิร์ด แล้ว ทั้งการซื้อนักเตะด้วยมูลค่าที่สูงกว่าราคาตลาด แล้วก็ไม่ได้เรื่องไม่ได้ราว รวมถึงเรื่องค่าเหนื่อยที่สวนทางกับผลงานในสนาม ยกตัวอย่างเช่น มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่ได้เงินเข้าบัญชีสัปดาห์ละ 300,000 ปอนด์ นั่นแหละครับ
หรือถ้าจะนับรวมนักเตะทุกคนในทีมตลอดทั้งปี ก็จะสูงถึง 185 ล้านปอนด์เลยทีเดียว นับเป็นอันดับ 2 ใน พรีเมียร์ลีก รองจาก แมนฯ ซิตี้ เท่านั้นเอง แต่พอดีว่า ‘เพื่อนบ้าน’ ดันคว้าแชมป์ลีกมาได้ 4 ปีติดยังไงล่ะครับ
ทั้งนี้ในส่วนของตัวผู้เขียนเองก็อยากให้ เซอร์ จิม ได้จัดลำดับ ‘ความสำคัญ’ กับสิ่งที่จะต้องถูกลดทอนไปเสียหน่อย เหมือนดั่งที่อดีตนักวิเคราะห์ของสโมสรอย่าง สตีฟ บราวน์ ได้กล่าวเอาไว้ว่า “อย่าสูญเสียจิตวิญญาณของสโมสร เพื่อประหยัดเงินเพียงเล็กน้อยเลย”
เขียนโดย LS Sport
ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชม.